จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าฯ

ร้านค้า / บริการ บริเวณสถานีและอาคารจอดรถ

รฟม. ได้ร่วมมือกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

         รฟม. ได้ร่วมมือกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดยอนุญาตให้ ขสมก. ใช้พื้นที่บริเวณอาคารและลานจอดรถเป็นท่าปล่อยรถโดยสารประจำทาง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการในการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างรถไฟฟ้ากับรถโดยสารประจำทาง โดย ขสมก. ได้เริ่มเข้าใช้พื้นที่ตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการรถไฟฟ้า (3 กรกฎาคม 2547) จนถึงปัจจุบัน ดังนี้

  1. อาคารจอดรถสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เป็นท่าปล่อยรถโดยสารประจำทาง สาย 137 (วนซ้าย)
  2. ลานจอดรถสถานีสามย่าน เป็นท่าปล่อยรถโดยสารประจำทางสาย 45

         นอกจากนี้ รฟม. ยังได้ร่วมมือกับ ขสมก. ปรับปรุงเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทาง เพื่อให้เป็นรถ Feeder เชื่อมต่อกับสถานีบางซื่อ จำนวน 3 เส้นทาง ได้แก่ สาย 65, สาย 70 และสาย 97 โดยได้เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2549 และ ขสมก. ได้จัดให้มีบริการเดินรถโดยสารประจำทาง สาย 196 วงกลมอู่บางเขน - เสนานิคม 1 - สถานีลาดพร้าว ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม

รฟม. ได้อนุญาตให้หน่วยงานภาคเอกชนใช้พื้นที่บริเวณลานจอดรถของ รฟม.
         รฟม. ได้อนุญาตให้หน่วยงานภาคเอกชนใช้พื้นที่บริเวณลานจอดรถของ รฟม. เป็นที่จอดรถตู้รับ-ส่งผู้โดยสาร เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางเป็นหมู่คณะเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟฟ้ากับอาคารสำนักงานและอาคารที่พักอาศัยต่างๆ ดังนี้

  1. สถานีห้วยขวาง จำนวน 2 ราย ได้แก่ นิติบุคคลอาคารชุดลุมพินีวิลล์ ศูนย์วัฒนธรรม และนิติบุคคลอาคารชุด ยู ดีไลท์ แอท ห้วยขวาง
  2. สถานีเพชรบุรี จำนวน 7 ราย ได้แก่ บริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด, บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บริษัท บางกอกออฟฟิศ 3 จำกัด, บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน), โรงพยาบาลพระราม 9, โรงแรมอมารี เอเทรียม กรุงเทพ และศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ


การเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟฟ้า ทางเดินคนโดยสาร หรือทางเข้าออก สถานีรถไฟฟ้ากับอสังหา ริมทรัพย์ของผู้อื่น

สถานีพหลโยธิน
          รฟม. ได้ดำเนินการก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามถนนพหลโยธิน (หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาลาดพร้าว) และทางเดินลอยฟ้าเชื่อมต่อทางเข้า-ออกสถานีพหลโยธิน (บริเวณสวนสมเด็จย่า 84) ไปยังป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางด้านหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลฯ ทดแทนสะพานลอยเดิม โดยได้เปิดให้บริการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2547 เป็นต้นมา รวมทั้ง ได้อนุญาตให้บริษัท แอล แอล ซี กรุงเทพ จำกัด เชื่อมต่อทางเดินระหว่างสะพานลอยคนเดินข้ามถนนพหลโยธินดังกล่าวกับอาคารห้างสรรพสินค้ายูเนี่ยน มอลล์ ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2550


สถานีพระราม 9
          รฟม. ได้อนุญาตให้บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา ไนน์ สแควร์ จำกัด เชื่อมต่ออาคารศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา สาขาพระราม 9 กับทางขึ้น-ลงที่ 2 สถานีพระราม 9 ของ รฟม. บริเวณชั้น B1 (ชั้นใต้ดินชั้นที่ 1) โดยได้เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2554


สถานีเพชรบุรี
          รฟม. ได้อนุญาตให้ รฟท. ใช้พื้นที่บริเวณสถานีเพชรบุรีของ รฟม. เพื่อก่อสร้างทางเดินยกระดับแบบลอยฟ้า (Sky Walk) เชื่อมต่อระหว่าง ทางขึ้น-ลงที่ 1 สถานีเพชรบุรีของ รฟม. กับสถานีมักกะสัน(Airport Rail Link) ของ รฟท. เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการทั้ง 2 ระบบ โดยได้เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2556

สถานีสุขุมวิท
รฟม. ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารเพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนระหว่างทางขึ้น-ลงที่ 3 สถานีสุขุมวิทของ รฟม. กับสถานีอโศกของ BTS เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนบริเวณถนนอโศกมนตรีกับถนนสุขุมวิทให้สามารถมาใช้บริการระบบรถไฟฟ้าทั้ง 2 โครงการได้อย่างสะดวกและปลอดภัย โดยได้เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2547
รฟม. ได้อนุญาตให้บริษัท บี แอนด์ จี พาร์ค จำกัด เชื่อมต่อทางเดินอาคาร Interchange ของบริษัทกับทางขึ้น-ลงที่ 2 สถานีรถไฟฟ้าสุขุมวิท ในระดับพื้นดิน (G Level) โดยอนุญาตให้เชื่อมต่อฯ ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2552

 

สถานีสีลม
        รฟม. ได้ดำเนินการก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามถนนสีลม เพื่อทดแทนทางม้าลายเดิมบนพื้นถนน ของ กทม. และก่อสร้างทางเดินลอยฟ้าเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชน ระหว่างทางขึ้น-ลงที่ 2 สถานีสีลมของ รฟม. กับสถานีศาลาแดงของ BTS รวมทั้งอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนบริเวณถนนสีลม ให้สามารถมาใช้บริการระบบรถไฟฟ้าได้อย่างปลอดภัยด้วย โดยได้เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548
สถานีสามย่าน
       รฟม. ได้อนุญาตให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อมต่อระหว่างทางขึ้น-ลงที่ 2 สถานีรถไฟฟ้าสามย่าน บริเวณชั้น B1 (ชั้นใต้ดินชั้นที่ 1) กับอาคารจัตุรัสจามจุรี โดยได้เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2551